Popular Posts

Wednesday, April 10, 2013

การทำดอกไม้จันทน์ขาย


การทำดอกไม้จันทน์ขาย
 
 เป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมสร้างรายได้ที่แรงดีไม่มีตกจริงๆ สำหรับการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ก็ไม่มีผล จะเห็นได้ว่าในระยะหลังมานี้มีการตั้งกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อผลิตดอกไม้จันทน์ออกขาย ทำให้หน้าตาของดอกไม้จันทน์ในปัจจุบันถูกพัฒนาไปมาก จากเดิมเรามักเห็นดอกไม้จันทน์ที่ทำจากใบลานมีสีขาว บ้างก็ออกสีเหลืองนวล เปลี่ยนเป็นดอกไม้จันทน์ทีมีหลากหลายรูปแบบและสีสัน
 
ดอกไม้จันทน์ มักจะเขียนผิดเป็น ดอกไม้จัน หรือ ดอกไม้จันทร์ ทั้งนี้ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายไว้ว่า “ดอกไม้จันทน์” คือ เนื้อไม้จันทน์เป็นต้น ที่ไสเป็นแถบบางนำมาประดิษฐ์เป็นช่อขนาดเล็ก ใช้ในการเผาศพ
 
สำหรับสาเหตุที่นำดอกไม้จันทน์มาใช้ในพิธีเผาศพ เนื่องมาจากในสมัยก่อนนั้นเรายังไม่มีการฉีดยา หรือวิธีการที่จะรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ดังนั้น ในการเผาศพ จึงต้องใช้ดอกไม้จันทน์ซึ่งทำมาจากไม้จันทน์ หรือต้นจันทร์ อันเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งในสมัยก่อนจะนิยมใช้ไม้จันทน์เฉพาะในงานศพของราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากไม้จันทน์หายากและมีราคาแพง ต่อมากรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นบางๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพและนิยมใช้จนถึงปัจจุบัน
 
อ้อย-นิตา เจริญวานิช หนึ่งในผู้ที่ยึดอาชีพผลิตดอกไม้จันทน์ขายมา 6-7 ปี บอกว่า หากอยากหันมาจับธุรกิจทำดอกไม้จันทน์นั้นไม่ยาก เพียงมีทุนเบื้องต้นสัก 600 บาท ก็ทำได้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ชุดแรก โดยเงินทุนจำนวนนี้จะทำแบบดอกเดียวได้ประมาณ 800 ดอก ซึ่งการทำดอกไม้จันทน์ในครั้งแรกอาจยังไม่เห็นผลกำไรมากนัก แต่กำไรจะอยู่ที่วัสดุอุปกรณ์ที่เหลือ ซึ่งสามารถใช้สำหรับการทำครั้งต่อไป ทำให้ต้นทุนลดลงจนเหลือผลกำไรมากขึ้น
“ดอกไม้จันทน์ . . . แม้จะเป็นดอกไม้สำหรับคนตาย แต่ดอกไม้จันทน์จะไม่มีวันตาย เพราะสามารถขายได้ตลอด ที่สำคัญยังเป็นสินค้าที่ไม่มีวันเสีย ไม่บูด ไม่เน่า สามารถเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี” คุณนิตา กล่าว
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
กลีบดอกสีขาว, กลีบดอกสีเกสร, หนวดจันทน์ (ทำจากเยื่อไม้)
กระดาษย่นสีดำ, ริบบิ้นสีดำ
ธูป-เทียน, ธูประกำ (1 ดอก ทำได้ 4 ช่อ), เทียนจิ๋ว, เทียนเบอร์ 8
ช่อประธานพร้อมหนวด, ก้านไม้ติดช่อประธาน, ไม้เสียบหมูปิ้งขนาด 5-6 นิ้ว (หรืออาจใช้ก้านธูปเพื่อประหยัดต้นทุน)       ด้ายสีขาว (แบบที่เรียกว่าด้ายไพ่ป๊อก), ลวดเบอร์ 24, กาวลาเท็กซ์
ถุงพลาสติก สำหรับบรรจุดอกไม้จันทน์ (ขนาด 16×26 นิ้ว บรรจุดอกเล็กได้ 100 ดอก ขนาด 10×15 นิ้ว บรรจุช่อประธานได้ 1 ถุงต่อ 1 ช่อ)
ขั้นตอนการทำ
1. แบบดอกธรรมดา เริ่มจากการทำเกสรก่อน โดยใช้กลีบดอกเกสรทำการจับกลีบเข้ากับก้านดอก นำกลีบดอกที่เตรียมไว้แล้วมาทำการเข้าดอก โดยใช้กลีบดอกประมาณ 4 กลีบ จากนั้นทากาวแล้วใช้ด้ายมัดให้แน่น ก็จะได้ตัวดอกไม้จันทน์ เมื่อได้ตัวดอกไม้จันทน์แล้วก็มาถึงขั้นตอนการใส่หนวดจันทน์ ซึ่งทำเตรียมไว้โดยพันคู่กับธูป-เทียนสำเร็จไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อใส่หนวดจันทน์แล้วนำกระดาษย่นสีดำพันก้านดอกให้แน่น จนไม่สามารถมองเห็นก้านดอกได้ ก็เป็นอันเสร็จ
2. แบบช่อประธาน เริ่มจากเตรียมก้านไม้ช่อประธานพร้อมหนวดจันทน์ไว้ จากนั้นจึงนำดอกที่ทำไว้ซึ่งใช้ขั้นตอนเดียวกันกับการทำแบบดอกธรรมดา นำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นช่อ โดยจะต้องทำแบบนี้เพราะจะต้องนำมาติดช่อประมาณช่อละ 9 ดอก จากนั้นทำการตกแต่ง เป็นอันเสร็จขั้นตอน
สำหรับการเก็บรักษาดอกไม้จันทน์เพื่อรอจำหน่าย คุณนิตา แนะเคล็ดลับว่า เมื่อทำเสร็จแล้วควรนำใส่ถุงพลาสติกแพ็กเก็บไว้ เพื่อไม่ให้กลีบดอกโดนลมจนกลีบดอกกรอบหรือหัก
นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ ในยุคที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก แม้การทำดอกไม้จันทน์จะไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างกำไรก้อนโต แต่ก็ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง แทรกซึมผ่านวิถีการดำเนินชีวิตของคน . . . ตราบใดที่มนุษย์ทุกคนยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่บนโลกใบนี้ ธุรกิจนี้ก็ไม่มีวันตาย
ที่มา kapook

No comments:

Post a Comment